สถานที่ท่องเที่ยว "สองพี่น้อง"





ตลาดบางลี่ เมืองสองฤดู

ตลาดบางลี่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะของอำเภอสองพี่น้อง ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง ฝั่งทิศใต้ คลองสองพี่น้อง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติแหล่งสำคัญที่ใช้อุปโภค บริโภค กันมาแต่โบราณ และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชาวตลาดบางลี่และชาวสองพี่น้องในครั้งอดีต  สองฤดูนั้น ชาวสองพี่น้อง จะหมายถึงหน้าแล้ง (ซึ่งเรียกว่าหน้าแห้ง) กับหน้าน้ำซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมในอดีต ในปีหนึ่งที่สองพี่น้องจะมีน้ำท่วมประมาณ 5-6 เดือน
ตลาดบางลี่   อดีตแห่งความเจริญรุ่งเรืองย่านการค้าขายโบราณริมแม่น้ำในเขตอำเภอสองพี่น้อง “ตลาดบางลี่” วิถีชีวิตการค้าขายโบราณยังคงให้เห็นเหมือนเดิม โดยเฉพาะอาหารการกิน ปลาแม่น้ำ เป็ดพะโล้อร่อย ร้านยาสมุนไพรไทยจีนโบราณ ร้านกวาดยาเด็ก การค้าเครื่องมือประมงคุณภาพดีที่ใหญ่ที่สุดของภาคกลาง และเป็นที่สถานที่จอดรถเพื่อลงเรือท่องเที่ยวทางน้ำแม่น้ำท่าจีนที่งดงาม และในทุกๆปี ตลาดบางลี่ได้กำหนดจัดงานเทศกาลอาหารบางลี่ ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีทางเทศบาลเมืองสองพี่น้องเป็นหลักในการจัดงาน และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ประวัติการก่อตั้งตลาดบางลี่
มีข้อสันนิษฐานอีก 2 เรื่อง ตามที่ ***คุณสกุณา ฉันทดิลก*** ค้นคว้าไว้ดังนี้
   เรื่องแรกเล่าว่าตลาดบางลี่ตั้งขึ้นทีหลังตลาดอำเภอ(สองพี่น้อง)เก่า(ตั้งอยู่ใกล้ๆโรงงานผลิตน้ำดื่มโยโจ้) หรือที่คนแต่ก่อนเรียกกันว่าตลาดสาน(บางคนว่าน่าจะเรียกตลาดศาล) เพราะตลาดอำเภอเก่าแต่ก่อนนั้นตั้งอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอสองพี่น้องดั้งเดิม และสถานีตำรวจภูธรอำเภอสองพี่น้อง สมัยนั้นตลาดสานหรือตลาดอำเภอเก่าคงเป็นตลาดศูนย์กลางของอำเภอสองพี่น้อง มีพวกกองเกวียนบรรทุกของจากป่าดอนมาขาย เส้นทางจากป่าดอน ก่อนถึงตลาดสาน มีลำรางบางน้อย และลำรางบางใหญ่กั้น ถ้าหน้าแล้งก็มาได้เลยเพราะลำรางแห้งแต่ถ้าหน้าน้ำน้ำจากคลองสองพี่น้องจะไหลเข้ามาในลำรางทั้งสองทำให้พวกกองเกวียนต้องจอดรออยู่ตรงบริเวณที่ว่างก่อนถึงลำรางบางน้อย ก็คือย่านตลาดบางลี่แถวโรงเจฮกเฮงตั๊วในปัจจุบัน มีพวกคนจีนหัวดีชวนพวกกองเกวียนเล่นการพนันและค้าขายกันที่ตรงนั้นจนเกิดเป็นชุมชนแห่งใหม่ มีการปลูกห้องแถวแห่งแรกให้พวกคนจีนเช่าอยู่อาศัยและค้าขายกัน ต่อมาได้มีชาวจีนตามมาสมทบมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ คือตลาดบางลี่ในปัจจุบัน
   
เรื่องที่  2  เล่าว่าตลาดบางลี่ นั้นเกิดจากบรรดาพ่อค้าชาวจีนรุ่นบุกเบิกที่มาจากเมืองจีนกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งหลักแหล่งทำเกษตรกรรมและค้าขายกันอยู่ในหมู่บ้านสองพี่น้องซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทยท้องถิ่น แต่หมู่บ้านสองพี่น้องเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมอยู่เป็นเวลานานทำการค้าขายไม่สะดวก จึงโยกย้ายขึ้นไปอยู่ตรงบริเวณพื้นที่ตลาดบางลี่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดอนกว่า ผนวกกับที่เดิมเริ่มคับแคบเพราะมีลูกหลานมากขึ้น จึงต้องย้ายไปหาทำเลใหม่ที่จะค้าขายได้สะดวกขึ้น ต่อมาพี่น้องชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ก็อพยพเข้ามาหาที่ทำมาหากินตามญาติๆที่มาก่อนจึงทำให้ชุมชนตลาดบางลี่กลายเป็นชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ขึ้นดังในปัจจุบัน


วัดอัมพวัน (หลวงพ่อโหน่ง)

        วัดคลองมะดัน เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง อยู่กลางทุ่งนา ในสมัยก่อนมีลำคลองผ่าน หน้าวัดและมีต้นมะดันขึ้นอยู่ชุกชุมมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า วัดคลองมะดัน แม้ว่าภายหลังได้มีการ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอัมพวัน แต่ชาวบ้านและคนใน จ.สุพรรณบุรี ทั่วๆ ไปยังนิยมเรียกชื่อเก่าว่า วัดคลองมะดัน เหมือนเดิม
        หลวงพ่อโหน่ง เกิดปีขาล ตรงกับวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๔๐๙ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๔๐๘) ณ หมู่บ้านท้ายบ้าน ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนฝั่งคลองสองพี่น้อง ฝั่งเดียวกับวัดสองพี่น้อง เป็นบุตรคนที่สอง (บางแห่งว่า เป็นบุตรคนที่ ๔) ของนายโต นางจ้อย โตงาม อาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมอุทร ๙ คน อายุได้ ๒๔ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง โดยพระอธิการจันทร์ วัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดิษฐ์ วัดทุ่งคอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระอธิการสุด วัดท่าจัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌายะว่า อินฺทสุวณฺโณ
        เมื่อหลวงพ่อโหน่งอุปสมบทแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาพระน้าชาย ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณเปรียญ ๙ ประโยค เพื่อศึกษาธรรมวินัย หลวงพ่อโหน่งสังเกตเห็นเจ้าคุณมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ จึงถามว่า ท่านละกิเลสหมดแล้วหรือ ท่านเจ้าคุณบอกให้หลวงพ่อโหน่งเข้าไปดูในกุฏิว่ามีอะไรบ้าง หลวงพ่อโหน่งไปเห็นโต๊ะหมู่บูชาทำด้วยมุก โต๊ะหมู่ทอง งาช้าง และสิ่งของมีค่าอีกมากมาย เมื่อออกมาจากกุฏิ หลวงพ่อโหน่งกราบลาท่านเจ้าคุณน้าชายกลับมาจำพรรษายังวัดสองพี่น้องตามเดิม แล้วเดินทางไปจำพรรษาที่วัดทุ่งคอกเพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการจันทร์ อุปัชฌาย์ของท่าน
หลวงพ่อโหน่งศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อจันทร์ได้ ๒ พรรษา เดินทางมาศึกษาต่อวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี จนกระทั่งมีความรู้แตกฉานเป็นที่ไว้วางใจแก่หลวงพ่อเนียมได้ เมื่อตอนหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยามาเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อเนียมพูดกับหลวงพ่อปานว่า “เวลาข้าตายแล้ว เอ็งสงสัยอะไรก็ให้ไปถามโหน่งเขานะ โหน่งเขาแทนข้าได้”
        นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ หลวงพ่อโหน่ง อายุ ๔๑ ปี จำพรรษาอยู่ ที่วัดสองพี่น้อง พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากนํ้า ได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้องและ พระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมในการอุปสมบทในครั้งนั้นคือ หลวงพ่อโหน่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และต่อมาหลวงพ่อสดก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโหน่งเช่นกัน นอกจากหลวงพ่อสดแล้ว ศิษย์ของท่านยังมี หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) วัดโพธิ์ หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก
        เมื่อหลวงพ่อโหน่งกลับไปจำพรรษาที่วัดสองพี่น้องตามเดิม จิตใจวาบหวิวชอบกล จึงเดินทางไปหาหลวงพ่อเนียมอีก ยังไม่ทันที่หลวงพ่อโหน่งจะว่าอะไร หลวงพ่อเนียมพูดขึ้นก่อนว่า “ฮื้อ! ทำไปเองนี่นา ไม่มีอะไรหร๊อก กลับไปเถอะ” หลวงพ่อโหน่งรู้สึกสบายใจขึ้น และก็มิได้เป็นอะไรอีกเลย
เมื่อมาจำพรรษาที่วัดคลองมะดัน ท่านฉันอาหารเจ ก่อนออกบิณฑบาต นมัสการต้นโพธิ์ทุกเช้า เมื่อบิณฑบาตกลับมาใส่บาตรถวายสังฆทาน ท่านเอามารดามาอยู่ที่วัดด้วย ปรนนิบัติจนกระทั่งถึงแก่กรรม เคร่งครัดในการอบรมสั่งสอนพระเณรและลูกศิษย์วัด ไม่รับเงิน เจริญวิปัสสนากรรมในป่าช้าเป็นประจำ ถือสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สินมีค่าเลยแม้แต่น้อย สร้างสาธารณูปการสงฆ์เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก